Anna Karenina วรรณกรรมตอลสตอยบนแผ่นฟิล์ม

เนื้อความ : วรรณกรรมของลีโอ ตอลสตอย นักเขียนคลาสสิคชาวรัสเซีย นอกเหนือจาก War and Peace และ Dr. Zhivago ที่ถูกนำมาสร้างหนังแล้ว Anna Karenina ก็เป็นนิยายอีกเรื่องหนึ่งที่ถูกนำมาสร้างเป็นหนังนับครั้งไม่ถ้วน โดยที่ฉบับที่ถูกล่าวขวัญถึง คงไม่พ้นฉบับของปี 1935 (พศ. 2478) จากบทบาทของ เกรต้า การ์โบ เพราะแม้แต่ฉบับที่วิเวียน ลีห์ ที่ตอนนั้นประสบความสำเร็จจาก Gone With The Wind มาแล้ว ก็ไม่สามารถเทียบได้กับแอนนาในบทบาทของการ์โบ แม้จะถูกสร้างห่างกันมาถึงสามสิบปีเต็ม และในยุคที่วรรณกรรมทั้งหลายถูกนำมาสร้างเป็นหนังกันอย่างจริงจัง เช่นนี้ จึงไม่แปลกที่ Anna Karenina ของตอลสตอย จะถูกมาปัดฝุ่นเพื่อถ่ายทอดลงเป็นแผ่นฟิล์มอีกครั้ง

ความจริง นิยายเรื่องนี้ก็ไม่ต่างจากเรื่องประโลมโลกที่เกี่ยวกับรักต้องห้ามของชายหญิงคู่หนึ่งที่ยังคงถูกกรอบสังคมห้อมล้อมอยู่อย่างเหนียวแน่น บทหนังของเบอร์เนิร์ด โรส ผู้กำกับ Immortal Beloved ใช้มุมมองของดีมิทรี่ เลวิน (อัลเฟรด โมลิน่า) เป็นคนเล่าเรื่องและเปรียบเปรยชีวิตของตนเองกับแอนนา (โซฟี มาร์โซ) น้องสาวของเพื่อนรัก ผู้หญิงที่เขาเองแทบไม่รู้จักคนนั้น ความเกี่ยวเนื่องของดีมิทรี่เพียงอย่างเดียวที่อาจจะมีส่วนร่วมกับเรื่องของแอนนา เห็นจะเป็นการที่เขาพบว่าคิตตี้ (มีอา เคิร์ชเนอร์) สาวน้อยที่เขาหมายปองนั้น ตัดเยื่อใยของเขาอย่างไม่ไว้น้ำใจ ในเมื่อเธอมองเห็นเพียงเคานต์วรอนสกี้ (ฌอน บีน) นายทหารหนุ่มรูปงามที่เธอหมายมั่นปั้นมือว่าจะยอมตกร่องป่องชิ้นด้วย แต่กลับกลายเป็นว่าวรอนสกี้มีใจให้แก่แอนนา สาวสวยที่มีทั้งสามีและลูกอยู่แล้ว แต่ความรักอย่างหน้ามือดตามัวทำให้วรอนสกี้ยอมทิ้งหน้าที่การงาน ติดตามไปป้วนเปี้ยนใกล้ ๆ ชีวิตของแอนนาในเวลาต่อมา

โรสอาจจะมีข้ออ้างว่าเขาต้องการให้ความสำคัญแกตัวละครตัวอื่น ๆ ในเรื่องนอกเหนือจากแอนนา , วรอนสกี้ และสามีชราของเธอ (เจมส์ ฟ็อกซ์) ด้วยการใส่เรื่องในส่วนของดีมิททรี่เข้าไปด้วย อาจจะเพื่อเป็นการเปรียบเทียบชีวิตที่เลือกหาทางออกอย่างถูกครรลองของดีมิทรี่เมื่อเขาถูกคิตตี้สลัดรักรวมไปจนถึงการกลับมาคืนดีกับพี่ชายผู้ไม่แยแสโลก และพบว่าชีวิตของเขาที่ปราศจากรักนั้นสงบสุขลงได้กับการปล่อยว่างและกลมกลืนไปกับธรรมชาติในชนบทที่เรียบง่ายจนท้ายที่สุดเขาก็ได้กลับมาพบกับคิตตี้ผู้หูตาสว่างขึ้น หลังจากถูกวรอนสกี้สลัดรักและโรคร้ายรุมเร้า และพบว่าเทพบุตรที่เธอเฝ้าฝันมาหาช้านานนั้น กลับกาลายเป็นผู้ชายชาวบ้านผู้มีแต่ความจริงใจและจุดมุ่งหมายของชีวิตเด่นชัดอย่างดีมิทรี่นี่เอง แม้นี่จะเป็นส่วนที่เปรียบเทียบเรื่องที่ผิดศีลธรรมของแอนนากับวรอนสกี้ให้ชัดเจนขึ้น แต่ดูเหมือนการขยายความส่วนนี้ กลับบั่นทอนพลอตในส่วนของแอนนากับวรอนสกี้นั้นอ่อนและขาดความต่อเนื่องจนไม่สามารสะท้อนความลึกของเรื่องอย่างที่ควรจะเป็น

เรื่องราวของแอนนาในช่วงที่ต้องต่อสู้กับสามัญสำนึกของตัวเองที่มีต่อสามีผู้เมินเฉยและเป็นเหมือนพ่อผู้เข้มงวดมากกว่าจะเป็นผู้ชายที่เธอร่วมหัวจมท้ายด้วย กับลูกชายหัวแก้วหัวแหวนที่เปป็นเหมือนแก้วตาดวงใจ ทำให้เธอต้องห้ามความต้องการของหัวใจอยู่พักใหญ่ แต่ท้ายที่สุด แอนนาผู้ไขว้เขวเป็นทุนเดิมอยู่แล้ว จึงสิโรราบต่อหนุ่มรูปงามที่ตื้อไม่เลิกอย่างวรอนสกี้เพียงแต่ขณะที่ทั้งสองปล่อยตัวปล่อยใจไปกับสิ่งที่หัวใจปรารถนาอยู่โดยไม่แคร์อะไรรอบข้างเรื่องของกรรมก็เกิดขึ้นตามมากับชีวิตของคนทั้งสอง แม้ในจุดหนึ่ง แอนนาคิดว่าเธอได้พบความสงบสุขของชีวิตแล้ว แต่เป็นเพราะความว่อกแว่กของวรอนสกี้เองที่ยังห่วงสถานะของตัวเองในสังคม ที่สำคัญเขาเป็นผู้ชายประเภทที่น่าดูแคลนยิ่งเมื่อพบว่ายังต้องแบมือขอจากแม่ผู้บงการ ผู้ยังตั้งความหวังจะได้เห็นลูกชายเป็นฝั่งฝากับผู้หญิงที่ไร้ข้อครหาทำให้ผลสรุปในช่วงชีวิตของทั้งสองกลายเป็นโศกนาฏกรรมไปอย่างหมดทางเลี่ยง

โซฟี มาร์โซ นักแสดงสาวชาวฝรั่งเศส ผู้สลัดครบความเป็นนักแสดงวัยรุ่นไปได้กับการแสดงที่ลึกและเป็นธรรมชาติตามเทคนิคของนักแสดงฝรั่งเศสทั่วไป ด้วยใบหน้าที่งามอย่างคลาสสิค มาร์โซดูจะเป็นทางเลือกที่พอเหมาะในการรับบทหญิงสาวผู้พยายามวิ่งตามความรู้สึกของตัวเองโดยไม่แยแสสังคมที่เคร่งครัดจะตราหน้าว่าเธอเป็นผู้หญิงแพศยาแต่ความที่บทหนังของโรสขาดความลึกจนเกินไป ทำให้มาร์โซไม่สามารถถ่ายทอดวิญญาณแก่แอนนาได้มากอย่างที่ควรจะเป็น แม้หลายต่อหลายครั้งมาร์โซจะพยายามเค้นอารมณ์ความรู้สึกอันหลากหลายออกมาอย่างเต็มที่ดีแล้วก็ตาม ในขณะที่ฌอน บีน กลับไม่มีความโดดเด่นนักในบทนำ หากเทียบกับอัลเฟรด โมลิน่าที่ได้บทที่เข้มข้นกว่า

ในส่วนหนึ่งของนิยายเรื่อง Anna Karenina มีการเปรียบเทียบว่าแอนนาก็คือตอลสตอยในส่วนที่ไม่เป็นที่ยอมรับในสังคมรัสเซียยุคก่อนที่บอลเชวิคจะปฏิวัติล้มล้างราชวงค์โรมานอฟฟ์ เพราะสังคมที่เคร่ครัด ความที่ตอลสตอยต่อต้านศาสนจักรและรัฐ และถูกต่อต้านจากสังคม การเปรียบเปรยตัวเขากับแอนนาที่ทำตัวผิดศีลธรรมเพื่อตอบสนองอารมณ์ความรู้สึกที่แท้จริงของตัวเอง จึงกลายเป็นสิ่งที่ค่อนข้างอื้อฉาวยิ่งของยุคนั้น คงไม่ใช่เรื่องปกติแน่ที่ผู้ชายคนหนึ่งจะมีลูกถึงสิบสามคนจากชีวิตแต่งงาน และยังมีลูกนอกสมรสอีกมากมายจากการใช้ชีวิตที่โชกโชนนั่นด้วย ในแง่หนึ่ง ตัวละครในนิยายของตอลสตอยก็คือการสะท้อนเสี้ยวหนึ่งของความนึกคิด ความเป็นปัจเจกของเขาเอง ไม่ว่าจะถูกมองว่าดีชั่วอย่างไรก็ตามจากสังคม สิ่งที่ปรากฏอยู่ในวรรณกรรมเหล่านี้ล้วนถ่ายทอดบทเรียนชีวิตชั้นดี ที่อาจจะเป็นประสบการณ์ที่คล้องจองกับชีวิตของผู้คน ไม่ว่าจะกี่ยุคกี่สมัยมาแล้วก็ตาม โดยเฉพาะสังคมที่ผู้หญิงยังคงถูกมองว่าเป็นประชาชนชั้นสอง ตอลสตอยสะท้อนภาพความเสมอภาคของชายหญิงซึ่งแม้จะทำผิดเหมือนกันแต่สำหรับผู้ชายแล้ว เขากลับยังสามารถเดินเข้าสังคมอย่างผ่าเผยได้เหมือนเดิม ในขณะที่ผู้หญิงกลับกาลายเป็นคนบาปที่ต้องเก็บซ่อนตัวให้พ้นจากสาวยตาของผู้คน ความไม่ยุติธรรมตรงนี้ถ่ายทอดออกมาเป็นแง่คิดในวรรณกรรมที่ว่าด้วยเรื่องของผู้หญิงที่ถูกตราหน้าว่าชั่วนับเรื่องไม่ถ้วน ในการณีของแอนนา คาเรนิน่าแล้ว เธอเองก็ตกเป็นเหยื่อของสังคมที่ไรความจริงใจนี่ด้วยเช่นกัน

ส่วนดีที่สุดของหนังคงหนึไม่พ้นการกำกับศิป์ของ จอห์น ไมร์ และการออกแบบของมอริซิโอ มิลเลนอตตี้ ที่ทำให้หนังออกมาสวยสมบรรยากาศย้อนยุครวมจนถึงการนำดนตรีคลาสสิคของไชคอฟสกี้ ทั้งจากบัลเลต์เรื่อง Swan Lake และ Eugene Onegan ที่หลายคนคงรู้จักเป็นอย่างดี เรื่อยไปจนถึงเพลงคลาสสิคของราชมานอฟ ที่เข้ากับภาพสวยเหมือนฝันของหนังอย่างพอเหมาะ

แม้ว่า Anna Karennina ฉบับนี้จะไม่ได้รับการกล่าวขานถึงนักในช่วงสองปีก่อนที่ออกฉาย แต่ถึงกระนั้นโรสก็ยังคงทำหนังออกมาได้อย่างงดงามไม่แพ้ Immortal Beloved หนังเรื่องก่อนของเขา เพียงแต่โรสยังไม่สามารถดึงอารมมณ์ของหนังให้ออกมาดีพออย่างที่คนดูต้องการ แม้องค์ประกอบโดยรวมน่าจะทำให้หนังสมบูรณ์อย่างที่ตั้งใจก็ตาม

++++++++++++++++++++++++++++++++++++++++++++++++++++

จากคอลัมน์ "ชำแหละแผ่นฟิล์ม" นิตยสารเอนเตอร์เทน (ประเทศไทย) ฉ.465
ความคิดเห็นตัวของผมนั้น บทความนี้คงจะสะท้อนความไม่เสมอภาคระหว่างเพศได้เป็นอย่างดีว่าทำไม ผู้ชายหรือ ผู้หญิงเมื่อโดนตราหน้าว่าทำเรื่องที่สังคมต่อต้าน หรือ ผิดศีลธรรมจรรยา ผลของการกระทำจึงได้รับไม่เท่าเทียมกัน จึงยกภาพยนต์เรื่องนี้มาให้อ่านเชิงเปรียบเทียบ และ คิดว่าหลังจากที่ได้อ่านแล้วจะทำให้มองบุคคลเหล่านั้นในเชิงกลับกันได้บ้างว่า ทำไมเขาถึงเป็นเช่นนั้น...


ปล. บทความนี้เป็นความเห็นในมุมมองของนักวิจารณ์ประจำคอลัมน์ โปรดใช้วิจารณญาณ
จากคุณ : ผู้ล่วงลับ - [9 มิ.ย. 2541 10:37:40]


ความคิดเห็นเพิ่มเติม : ดูได้ที่โรงไหนครับ หาดูยาก (?)
โดยคุณ : zaffer - [9 มิ.ย. 2541 17:41:35]


ความคิดเห็นเพิ่มเติม : เห็นด้วยครับว่าผู้ชายเป็นคนสร้างมาตรฐานความสัมพันธ์ทางเพศมาคุมผู้หญิง และถ้าผู้หญิงไม่ทำ
ตามก็จะถูกสังคมลงโทษ แต่รู้สึกนะครับว่า Anna เวอร์ชั่นฮอลลีวู้ด เป็น Anna คนละคนกับ Anna
ของตอลสตอย เพราะลักษณะของตอลสตอยในงานใหญ่ๆ ทุกชิ้นไม่ได้เน้นที่พลอตเรื่องนะครับ
แต่อยู่ตรง "วิธีเล่าเรื่อง" มากกว่า จึงเป็นเรื่องยากมากที่จะเอาเรื่องของตอลสตอยมาทำเป็นหนัง
แล้วสื่อสารได้ตรงประเด็นกับตอลสตอยอย่างเคร่งครัด Anna ฉบับล่าสุดจึงเป็นหนังดราม่าที่มี
คุณภาพดีเรื่องหนึ่งมากกว่า (และสำคัญคือมี Sir George มาทำเพลงด้วย)

ผมคิดว่า Anna ของตอลสตอยมีความซับซ้อนมากกว่าปัญหาความเท่าเทียมทางเพศนะครับ และ
ตัวตอลสตอยเองก็ไม่ใช่นักต่อสู้เพื่อความเสมอภาคทางเพศด้วย เขามีภรรยาถึงสิบสี่คนและมีลูก
นอกสมรสอีกมาก เช่นเดียวกับที่พวกศักดินาและผู้ดียุโรปในสมัยนั้นปฏิบัติ ตอลสตอยต่อต้านรัฐ
กับศาสนจักรจริง แต่ไม่ได้ต่อต้านพระเจ้า และเขากลับคิดว่าเขาเป็นคนที่อยู่ใกล้พระเจ้ามากกว่าคนอื่นๆ
ด้วยซ้ำ ตอลสตอยจึงไม่ใช่นักเขียนสกุลโรแมนติคที่จะเชิดชูอารมณ์ความรู้สึกและความรักเป็นเรือ่งใหญ่
และธีมของ Anna ก็ไม่ใช่หนังรักอย่างที่คนวิจารณ์เข้าใจด้วยครับ

ผมคิดว่าผู้กำกับเรื่องนี้ประสบความยากลำบากในการสร้าง Anna พอสมควร อย่่างที่บอกแล้วว่าตอลสตอย
เน้นการเล่าเรื่องมากกว่าพล๊อตเรื่อง แต่ในแง่ความเป็นหนังนั้น ไม่สนุกแน่ที่จะสร้างงานขึ้นมาบอก
เล่าเหตุการณ์อย่างเนิบนาบโดยไม่มีอารมณ์ความรู้สึกเลย จึงจำเป็นต้องแปลงโฉม Anna ให้กลาย
เป็นหนัง drama-romantic (ซึ่งไม่ใช่เรื่องผิด) โดยที่ต้องพยายามรักษาหัวใจของเรื่องของตอลสตอยไว้ด้วย

ดังที่กล่าวไว้แล้วว่าตอลสตอยเชื่อพระเจ้า แต่ต่อต้านศาสนจักร ซึ่งในสังคมศักดินายุโรปนั้น รัฐ
กับศาสนจักรคือสิ่งเดียวกัน แต่เขาก็ไม่ได้เชิดชูความรักแบบเสรีนิยม หัวใจของ Anna ในเรื่อง
นี้จึงไม่ใช่อยู่ที่ปัญหาความเท่าเทียมทางเพศหรือการต่อสู้เพื่อรักแท้ แต่คือการแสดงวิธีมองโลก
แบบตอลสตอยออกมา โดยที่ตัวละครหลักๆ ในเรื่องทั้ง ๔ คน คือตัวแทนของความคิดและความ
เชื่อในเวลานั้น ๔ อย่าง และตัวละครที่ใกล้เคียงความเป็นตอลสตอยมากที่สุดคิือ เลวิน ไม่ใช่
แอนนา เพราะตอลสตอยไม่เห็นคุณค่าของความรักแบบโรแมนติค

ขอพูดอย่างสั้นๆ ว่าแอนนาเป็นตัวแทนของความรักแบบโรแมนติค เธอโหยหา "ความรักที่แท้" เพื่อ
เติมเต็มสิ่งที่ไม่เคยได้รับจากสามีชรา, เคาน์ตวรอนสกี้เป็นตัวแทนของความรู้สึกแบบ "โลกียชน"
(Sensualist) ที่ทำทุกสิ่งทุกอย่างตามแรงเร้าของสัมผัสทั้งห้า เขาตกหลุมรักแอนนาตั้งแต่นาทีแรกพบ
ทั้งที่ไม่รู้ว่าเธอเป็นใครและคิดหรือรู้สึกอย่างไร, สามีชราเป็นตัวแทนของนัก "เหตุผลนิยม" (Rationalist)
ที่เชื่อว่าทุกสิ่งทุกอย่างต้องอธิบายได้ โดยไม่คำนึงถึงความรู้สึกใดๆ พูดง่ายๆ คือเป็นคนประเภท
รักเหตุผลและหน้าตามากกว่ามนุษย์ที่มีเลือดเนื้อ ส่วนเลวินเป็นตัวแทนของคนที่แสวงหาความ
สงบทางจิตวิญญาณ (Spiritualist) รักเพื่อนมนุษย์ พร้อมจะให้อภัยผู้อื่น และต่อสู้เพื่อบรรลุ
ปัจเจกภาพของตน

สิ่งที่ Anna ในหนังและหนังสือเหมือนกันก็คือคนแบบแอนนา, สามีชรา และเคาน์ตวรอนสกี้
เป็นคนที่มีฐานะครอบงำความเป็นไปของเรื่องราวโดยตลอด ขณะที่คนที่ใฝ่หาความสงบอย่า
เลวินนั้นแทบไม่มีส่วนเกี่ยวข้องกับการดำเนินเรื่องเลย แต่ถ้าถือว่าสามีชราเป็น Thesis และ
แอนนากับเคาน์ตวรอนกสี้เป็น Anti Thesis แล้ว เลวินก็คือ Synthesis ของเรื่อง เหมือนกับที่
ตอลสตอยคือ Synthesis ของสังคมนั่นเอง

Anna เป็นเรื่องราวของโศกนาฎกรรม เพราะตัวละครทุกเรื่องล้วนมีจุดจบที่น่าอนาถ แอนนาแหก
วงล้อมของครอบครัวไปสู่ชีวิตใหม่ แต่ผู้ชายที่เธอเลือกก็ไม่ได้รู้สึกกับความรักในแบบที่แอนนารู้สึก
นายทหารหนุ่มเลือก "งาน" มากกว่า "การแต่งงาน" ซึ่งทำให้แอนนาเผชิญกับความคับข้องใจจนนำ
ไปสู่การฆ่าตัวตาย, ส่วนนายทหารผู้นั้น ความรู้สึกผิดในสิ่งที่ทำกับแอนนาก็ทำให้เขาใช้ชีวิตอย่าง
ท้าทายความตายไปตลอดชีวิต, ขณะที่สามีชราก็ต้องทนอยู่เดียวดายกับบุตรที่ตนไม่ได้เป็นคนให้
กำเนิด และกองเงินกองทองที่ปราศจากเลือดเนื้อและจิตใจ

ตัวละครที่มีความสุขอย่างแท้จริงในชีวิตคือเลวิน เขาอยู่กับธรรมชาติ ห่างไกลจากราชสำนัก
ห่างไกลจากการแข่งขันทางธุรกิจ ใช้ชีวิตอยู่กับการครุ่นคิดถึงความสุขสงบทางจิตวิญญาณ
นี่ต่างหากคือชีวิตในอุดมคติของตอลสตอย และนี่ต่างหากคือความหมายที่ลึกที่สุดในงานเขียน
Anna Karenina ของตอลสตอย ซึ่งเป็นเรื่องยากที่จะแปรทรรศนะเช่นนี้มาสู่จอภาพยนตร์ได้
อย่างสมบูรณ์แบบ เมื่อเป็นเช่นนี้แล้ว Anna เวอร์ชันอเมริกา จึงเป็น Anna ที่อิลักอิเหลื่อ
ระหว่างความเป็นหนังโรแมนติคที่เชิดชูการต่อสู้เพื่อความรัก กับความเป็นงานประพันธ์ที่เชิดชู
ความสุขสงบทางจิตวิญญาณ

โดยคุณ : เอ้ - [9 มิ.ย. 2541 18:00:22]


ความคิดเห็นเพิ่มเติม : ดูที่เวิล์ดเทรดครับ รีบไปนะเดี๋ยวหนังจะออกก่อน สกอร์หนังเรื่องนี้เจ๋งมาก เซอร์จอร์จ
คอนดัคได้เยี่ยมจริงๆ โทรไปคอนเฟิร์มก่อนนะครับที่ 255-9555 พรุ่งนเราจะไปพอดี
เดี๋ยวดูให้ครับ ติดต่อมาที่ 10332184 แล้วกัน
โดยคุณ : เอ้ - [9 มิ.ย. 2541 18:08:21]


ความคิดเห็นเพิ่มเติม : ผมว่าตัวงานออกมาไม่คลาสสิคนะครับ เทียบกับ immortal beloved โดยผู้กำกับฯคนเดียวกัน ยังมีลีลาของหนังน่าติดตาม และน่าสนใจกว่า
ส่วนเนื้อเรื่องของหนังนั้นไม่ต้องพูดถึงระดับตอลสตอยแล้วย่อมมีสาระน่าติดความอยู่แล้ว แต่ทำได้ไม่ลุ่มลึกเท่าตัวเรื่อง ยังแปลกใจท่ีเห็นหนังสือแปลเล่มหนาเตอะทำเป็นหนังได้ไงในเวลาไม่ถึง 100 นาทีดี
ดูแล้วถ้าจะเปรียบกับเรื่องของไทยก็เห็นเป็น "แผ่นดินของเรา" นั่นแหละเรื่องเยี่ยม แต่พอทำมาเป็นละครทีวี หรือเลือกตัวแสดงคนดูก็รู้สึกว่า มันน่าจะมีอะไรกว่านั้น
โดยคุณ : chuck - [9 มิ.ย. 2541 20:10:53]


ความคิดเห็นเพิ่มเติม : สักวันนึง เราคงจะได้เห็นการรวมพลของคนรักหนังอินดี้ (นอกกระแส) ณ เฉลิมไทยแห่งนี้
กันบ้างล่ะครับ คุณเอ้ - chuck สนใจไหมครับ แข่งกะเอนเตอร์เทนคลับซะเลยดีมั้ย ...
แนะนำกันเข้ามาได้เรื่อย ๆ ครับ
โดยคุณ : ผู้ล่วงลับ - [9 มิ.ย. 2541 20:36:26]


ความคิดเห็นเพิ่มเติม : โอ้โห
โดยคุณ : จ๋งหลงหงส์ ...และอาร์เจน - [9 มิ.ย. 2541 23:13:38]


ความคิดเห็นเพิ่มเติม : ผมดูทุกเรื่องครับที่ WTC2 นี่
สำหรับ Anna นี่
ผมว่าเรื่องมันไม่ค่อยสมบูรณ์หนะครับ
โดยเฉพาะเรื่องของเลวินที่แทรกเข้ามาแบบกึ่งๆ ครึ่งๆ กลางๆ

ผมชอบ Mia Kirshner มากๆ เลย น่ารักจริงๆ
โดยคุณ : Oakyman - [9 มิ.ย. 2541 23:43:05]


ความคิดเห็นเพิ่มเติม : รวมเลยครับ พลพรรคดูหนังอินดี้น่ะ
โดยคุณ : Amadeus Chung(king) - [10 มิ.ย. 2541 04:33:21]


ความคิดเห็นเพิ่มเติม : ครับ ถ้าอยากจะเป็นคอหนังเดียวกัน (ที่เริ่ม ๆ เบื่อหนังสตูดิโอที่เป็นสูตรสำเร็จทั้งหลาย)
เข้าร่วมกันเป็นส่วนหนึ่งของผู้ที่ชื่นชอบหนังอินดี้ สถานที่ ๆ จัดกิจกรรมดูหนัง
อาจจะเริ่มกันที่โรงหนังเวิร์ดเทรดเป็นหลัก กิจกรรมนี้เหมาะสำหรับผู้ที่อยู่ใน
กรุงเทพฯ และ ปริมณฑล หรือ ผู้ที่คิดว่าจะเข้ามาทำธุระในกรุงเทพฯ ช่วง
เสาร์ หรือ อาทิตย์ ก็ยินดีครับที่จะเป็นส่วนหนึ่งของกิจกรรม ถ้าสนใจช่วยส่งข้อมูล
มาดังนี้ครับ


- ชื่อ นามสกุล
- ที่อยู่
- สถานะการทำงาน / เรียน / อื่น ๆ
- อายุ
- นิกเนมที่ใช้ประจำในเฉลิมไทย มีแปะยิ้มยิ่งดีครับ จะได้รู้ว่าขาประจำ (ถ้ามี)
- อีเมล์ที่ติดต่อกลับไปได้ (ถ้ามี)

อีเมล์มาที่ samarty@yahoo.com ครับ
ส่วนใครที่ไม่มีอีเมล์ ก็ post มาลงในกระทู้นี้ตรง ๆ เลยก็ได้ครับ (หรือ จะเป็นกระทู้ที่ผมจะตั้ง
เข้ามาอีกในภายหลัง) ผมจะได้ทราบยอดที่แท้จริง ๆ ว่า
มีผู้ที่อยากร่วมกิจกรรมหนังอินดี้มีมากน้อยเพียงไร แล้วผมจะแจ้งให้ทราบยอดจำนวนในโอกาสต่อไปครับ


ปล. ถ้ามีอะไรสงสัย หรือ จะเสนอแนะอะไรเพิ่มเติมก็
post เข้ามาได้ครับ ผมจะรอฟังความเห็นของทุก ๆ คนครับ
โดยคุณ : ผู้ล่วงลับ - [10 มิ.ย. 2541 07:32:38]


ความคิดเห็นเพิ่มเติม : เสริมอีกนิดนะครับ ถ้าส่งอีเมล์ มาแล้ว post บอกผมในกระทู้
ว่าส่งมาแล้ว ผมจะได้เช็คว่ามีข้อมูลใครตกหล่นหรือไม่

ขอบคุณครับ
โดยคุณ : ผู้ล่วงลับ - [10 มิ.ย. 2541 07:39:51]


ความคิดเห็นเพิ่มเติม : ผมขอเข้าร่วมด้วยคนนะครับ
ยังไงฝากคุณเอ้ รบกวนช่วยบอกข่าวคราวผมด้วยครับ
โดยคุณ : 010 - [10 มิ.ย. 2541 12:12:54]


ความคิดเห็นเพิ่มเติม : ผมเห็นด้วยกับคุณ เอ้ ในหลายๆประเด็น

แต่ขอเสนอมุมมองของ ตอลสตอย <ในมุมมองของผม>
ในมุมที่เขาอยู่ในชนชั้นศักดินา เยี่ยงชนชั้นผู้ดี และหลังปี1870
ตอลสตอยไม่พึงใจในสภาพชนของตัวเอง ด้วยเหตุผมที่บอกเห็นสิ่ง
ต่างๆขึ้น จากสิ่งเร้าต่างๆ สร้างความกดดัน เดียจฉันท์ และอื่นๆ
เป็นความสุดโต่งที่เป็นข้อดีที่ ตอลสตอย มีในเรื่องระบบความเชื่อ
ในการมองถึงแก่นในเรื่องที่เขาได้เขียนขึ้น มิได้เป็นผู้นอบน้อมในที
ที่จะแสวงหาความสงบ หรืออุดมคติ แต่กลับเป็นผู้ที่จะจัดระบบหรือ
วางฐานสังคมได้ และวางตัวเป็นผู้เข้าถึง มิใช่การถ่อมตนอย่างที่ทั่ว
ไปยอมรับในตัว ตอลสตอล

ลีโอ นิโคเยวิช ตอลสตอย <เปลี่ยนชื่อตนเอง> ได้แสดงความไม่พึงใจ
และปฏิเสธความสำเร็จในงานวรรณกรรมอย่าง anna karinena
เสียด้วยซ้ำไป

ในเรื่องนี้เอง เป็นส่วนดีที่ผมชอบ ลีโอ ตอลสตอย
< ถ้าไงเราคุยกันหลังไมร์นะครับ เอ้ >
โดยคุณ : 010 - [10 มิ.ย. 2541 13:35:50]


ความคิดเห็นเพิ่มเติม : เข้ามาอ่าน เอาความรู้คะ ...
โดยคุณ : ผู้ที่ยังอยู่ - [10 มิ.ย. 2541 14:24:48]


ความคิดเห็นเพิ่มเติม : คณเอ้อะไเรเนี่ยเขียนดีกว่าพวกวิจารณ์หนังอีกนะ
เห็นหลายครั้งแล้ว ขอปรบมือให้ด้วยใจจริง
โดยคุณ : ม่านไหม - [10 มิ.ย. 2541 14:42:54]


ความคิดเห็นเพิ่มเติม : ส่ง อีเมน ไปแล้วครับ
โดยคุณ : Oakyman - [11 มิ.ย. 2541 23:33:24]


ความคิดเห็นเพิ่มเติม : ออกไปแล้วครับ แอนนา
แต่โปรแกรมต่อๆมาก็น่าดูมาก
เช่นหนังของบิลลี่ ออกัสต์ ผกก. pelle the conqueror
โดยคุณ : J.C. - [12 มิ.ย. 2541 01:53:19]


ความคิดเห็นเพิ่มเติม : โอ้โห...โอ้ๆๆๆๆๆๆๆ
เรื่องมันเศร้าค่ะ ตราบที่มนุษย์
ยังติดอยู่กับกรอบ
J.C. rewไปดูหนังเรื่องที่ J.C.
แนะนำด้วยหละ สะดุดกับคำพุดที่ว่า
ความรักมันช่วยเหลือคนที่คุณรักได้ถ้าคุณทำ
ไม่นานนักก็เจอประโยคเด็ดใหม่ คือ
การช่วยเหลือคนที่คุณรักไม่สำคัญเท่ากับว่า
คุณทำอะไร
โดยคุณ : rew - [12 มิ.ย. 2541 09:59:01]


ความคิดเห็นเพิ่มเติม : ข้นด้วยคุณภาพอีกครั้งสำหรับคุณเอ้
ดูเหมือนว่ามุมมองของผู้เขียนคอลัมน์ "ชำแหละแผ่นฟิล์ม"
มาจากภาพยนตร์เท่านั้น อาจจะมิได้อ่านงานประพันธ์มาก่อน

คุณเอ้เคยเขียนงานวิจารณ์ภาพยนตร์ลงนิตยสารบ้างไหมคะ
โดยคุณ : amask@hotmail.com - [13 มิ.ย. 2541 01:59:01]


ชื่อ/email ของคุณ :
รายละเอียด :