ก.ม.แรงงานใหม่ ทำให้ทั้งนายจ้างและลูกจ้างลงเหวเร็วขึ้น

เนื้อความ : ผมพึ่งทราบว่า ก.ม. แรงงานใหม่
ได้ออกกฎให้นายจ้างต้องจ่ายเงินชดเชย
เท่ากับเงินเดือนสิบเดือน เมื่อยกเลิกสัญญาจ้าง
โดยเริ่ม สิงหาคมนี้
ผมไม่ทราบว่าคนร่างก.ม. เอาอะไรเป็นข้อมูล
พื้นฐานในการกำหนด จากหกเดือนเป็นสิบเดือน
ก.ม.แรงงานนี้ อาจทำให้นายจ้างตัดสินใจเลิกจ้างง่ายขึ้น
เมื่อกิจการปิดมากขึ้น
เงินในระบบก็จะหมุนเวียนน้อยลง
การตกงานก็จะมากขึ้น
ต่อไปนี้ผมก็เชื่อว่า วัฒนธรรมการทำงานแบบไทยๆก็คงหายไป
การจ้างงานอาจเป็นลักษณะสัญญาปี ต่อ ปี เหมือนฝรั่ง
ถ้าผมเป็นนายจ้างแล้วเห็นลักษณะกฎหมายแบบนี้
ผมคงไม่จ้างลูกจ้างประจำเด็ดขาด
ยิ่งเศรษฐกิจไทย ที่มีความเสี่ยงสูงอย่างนี้
นอกจากนี้ เมื่อการว่าจ้างออกมาเป็นลักษณะปีต่อปี
คนทำงานจะมีความเครียดสูงขึ้น
การแข่งขันในการที่จะไม่ให้ตัวเองถูกไล่ออก
ในระยะสั้น จะรุนแรงขึ้น

คนเขียนกฎหมายครับ
กฎหมายคือการสร้างความยุติธรรมในสังคมให้เท่าเทียมกัน
กฎหมายอย่างนี้เรื่องยุติธรรมต่อนายจ้างหรือเปล่า
หรือนายจ้างไม่ใช่พลเมืองไทย??
จากคุณ : ขอแจม - [18 พ.ค. 2541 00:29:04]


ความคิดเห็นเพิ่มเติม : ธุรกิจขนาดเล็กที่ประสพปัญหาเตรียมล้มได้เลยครับ
ถ้าออกมา ตั้งสิบเดือนอืมม์
ผมมน่าไปเป็นลูกจ้างบ้างนะ
โดยคุณ : elvis - [18 พ.ค. 2541 01:51:47]


ความคิดเห็นเพิ่มเติม : ตามหลักการดีนะ เพราะว่ากม.แรงงานจะปกป้องผู้ใช้แรงงานไม่ให้นายจ้างมาเอาเปรียบ แต่ว่าคนร่างน่ะ ลืมคิดถึงฝ่ายนายจ้างน่ะ คือ คนร่างไม่ค่อยมี vision ยิ่งช่วงนี้ปฏิบัติจริงยิ่งแย่ใหญ่เลย
โดยคุณ : meaw meaw - [18 พ.ค. 2541 02:23:46]


ความคิดเห็นเพิ่มเติม : ยังเรียนไม่ถึงครับ... แต่คิดว่าคนร่างก็น่าจะมีเหตุผลของเค้า
โดยคุณ : กุนซือสำอางค์ - [18 พ.ค. 2541 02:30:04]


ความคิดเห็นเพิ่มเติม : โดยหลักการแล้วต้องการปกป้องผลประโยชน์ให้กับลูกจ้าง
แต่ตอนนี้กับกลางเป็นดาบสองคม ซึ่งเท่าที่ผมทราบ
ทุกบริษัทฯ กำลังพิจารณาไล่คนที่ไม่จำเป็นทั้งหมด
ออกก่อนเดือนสิงหาคม (รวมทั้งบริษัทฯ ผมด้วย) เพื่อ
จะได้จ่าย 6 เดือนใต้กฏหมายเก่า......เศร้า
ผมคิดว่าถ้าจะออกกฏหมายลักษณะนี้ น่าจะออกแบบ
กระทันหันเหมือนพระราชกำหนดการเงิน เพื่อไม่ให้
เกิดเหตุการณ์แบบนี้นะ ช่วยถามคุณไตรรงค์ทีสิ
ว่าจะเอายังไง
โดยคุณ : อาเส็ง - [18 พ.ค. 2541 07:22:57]


ความคิดเห็นเพิ่มเติม : เสร็จหน้านาฆ่าโคถึก เสร็จศึกฆ่าขุนพล
ยามดีก็ใช้ ยามไข้ก็ถีบหัวส่งมันดีใช่ไหมครับ
กฎหมายเขาร่างมาตอนสภาวะเศรษฐิกิจดีอยู่
มาตอนนี้มันแต่ก็เลยดูเหมือนทำลายเอกชนโดยออ้ม
แต่ผมชอบนะครับกฏหมายนี้ แต่ตอนนี้นายจ้างเขาหาทางออกไว้แล้วครับ
เขาจะใช้วิธีการแกล้งทำหนังสือเตือนเรื่องประพฤติตัว
ไม่เหมาะสม แล้วหาช่องไล่ออกเลย ไม่ต้องจ่ายค่าชดเชยด้วยครับ
โดยคุณ : biggy@thaimail.com - [18 พ.ค. 2541 08:16:39]


ความคิดเห็นเพิ่มเติม : กฎหมายแรงงานเก่าเขียนไว้ตั้งแต่ พศ. 2515
ตอนนั้นจอมพลถนอม เป็นายกรัฐมนตรี
แล้วก็ตอนนั้นไม่มีคอมพิวเตอร์รวมทั้งอินเตอร์เน็ตด้วย
ถ้าเราคิดว่าการเปลี่ยนแปลงเป็นกฎเกณท์ของสังคมก็น่าจะถือว่า
เป็นเรื่องธรรมดา
เรื่องจะพากันลงเหวไม่น่าต้องห่วง
ชั่วโมงนี้เหวไม่มีแล้ว
(ถูกศพนายจ้างและลูกจ้างที่ล้มละลายฝังกลบหมด)!!!
โดยคุณ : มหาหิงค์ - [18 พ.ค. 2541 09:38:31]


ความคิดเห็นเพิ่มเติม : ถ้าจำไม่ผิดรู้สึกว่าเขาจะมีเรื่องอายุงานเป็นเงื่อนไขในการจ่ายด้วยไม่ใช่ว่าทำไม่กี่เดือนก็จ่าย 10 เดือนนะครับ แล้วผมเชื่อว่าก่อนวันดีเดย์คงมีการเลิกจ้างอีกเพียบ เพราะนายจ้างคนไทยที่เห็นแก่ได้สมัยนี้มันยังมีอยู่
โดยคุณ : Mr.Casper - [18 พ.ค. 2541 12:10:54]


ความคิดเห็นเพิ่มเติม : ไม่เข้าใจเหมือนกันนะครับว่า "วัฒนธรรมการจ้างงานแบบไทย" หมายความว่าอะไร แต่ขอเสนอข้อ
มูลเพิ่มเติมว่าการจ้างงานลักษณะชั่วคราวหรือ sub-contract นั้นเป็นวิธีที่นายจ้างใช้กับคนงานใน
โรงงานที่การทำงานมีลักษณะ "งานประจำ" มานานแล้ว ซึ่งไม่แฟร์กับพนักงานที่ทำงานติดต่อกันเป็น
เวลานานเป็นอย่างยิ่ง เพราะพวกเขาจะมีสถานะเป็น "ลูกจ้างชั่วคราว" ตลอดไป ไม่ว่าจะทำงานมา
นานแค่ไหนก็ตาม สภาพเช่นนี้ไม่ได้เกิดเพราะกฎหมายแรงงานฉบับใหม่แน่นอน แต่เป็นเรื่องที่
นายจ้างพยายามลดต้นทุนด้านแรงงานมากเกินไปจนกลายเป็ฯการเอารัดเอาเปรียบ

ประเด็นของคุณ casper น่าในใจ เพราะกำลังเกิดกระแสไล่พนักงานในกลุ่มนายจ้าง โดยอ้างว่า
กฎหมายแรงงานใหม่ทำให้นายจ้างเดือดร้อนเกินไป ทั้งๆ ที่ไม่ใช่ลูกจ้างทุกคนที่จะได้ค่าชดเชยสิบเดือน
แต่เป็ฯลูกจ้างที่ทำงานต่อเนื่องมานานตามเกณฑ์ที่กฎหมายกำหนดไว้เท่านั้น อันที่จริงค่่าชดเชย
ที่สิบเดือนก็มีปัญหาเหมือนกันเพราะเป็นอัตราที่ fix มากเกินไป สำหรับลูกจ้างที่ทำงานมาสิบปี
กับสามสิบปี ก็จะได้ค่าชดเชยสูงสุดแค่เรตนี้ ควรมีการปรับเรตให้ยืดหยุ่นตามอายุงานมากกว่า

ควรมองในอีกแง่หนีึ่งบ้างว่าปัญหาเศรษฐกิจที่เกิดขึ้นในปัจจุบันไม่ได้มีแค่ปัญหานายจ้างขาดสภาพคล่อง
คนทุกกลุ่มได้รับผลกระทบเหมือนกันหมด ลูกจ้างเองก็ได้รับผลกระทบด้วย และเมื่อเปรียบเทียบ
กับรายได้ของนายจ้างแล้ว ผลกระทบที่เศรษฐกิจไทยสร้างแก่ลูกจ้างนั้นมีมากต่อผลกระทบที่เศรษฐกิจ
ไทยสร้างต่อนายจ้างด้วยซ้ำไป เพราะข้อเท็จจริงมีอยู่ว่าค่าจ้างแรงงานไทยต่ำกว่าการเพิ่มขึ้นของ
ค่าครองชีพมาโดยตลอด ผลก็คือคนงานถูกกดดันให้ทำโอที ไม่มีเงินออม เมื่อเกิดวิกฤตเศรษฐกิจ
คนงานจะอยู่ในภาวะที่ลำบากขึ้นไปอีก เพราะค่าแรงจะลดลงโดยเปรียบเทียบ ขณะเดียวกันก็
ไม่มีฐานทางการออมที่เข้มแข็ง

ในแง่นี้ การมีระบบค่าชดเชยที่เป็นธรรมจึงเป็นเรื่องจำเป็นอย่างยิ่ง นอกจากนั้น ควรจะผลักดัน
ให้มีระบบประกันสังคมที่เป็นธรรมมากขึ้นด้วย ที่น่าตลกก็คือขณะที่เศรษฐกิจดีนั้น การแก้กฎ
หมายแรงงานให้ทันสมัยและเป็นธรรมจะถูกวิจารณ์ว่า "ทำลายบรรยากาศการลงทุน" แต่ยาม
เศรษฐกิจไม่ดี ก็จะถูกวิจารณ์ว่า "ไม่สอดคล้องกับสถานการณ์๘องประเทศ" เลยไม่ทราบว่า
จะเปลี่ยนแปลงกันได้เมื่อไหร่กันแน่

เวลาพูดถึงความลำบากของนายจ้าง อย่าลืมข้อเท็จจริงง่ายๆ ว่าถึงอย่างไรนายจ้างก็เป็นผู้ที่มี
สถานะทางเศรษฐกิจดีกว่าลูกจ้าง และระบบการจ้างงานของไทยก็เป็นระบบที่ล้าหลังกว่าต่างประเทศมาก
สมควรแล้วที่จะมีการเปลี่ยนแปลง
โดยคุณ : เอ้ - [18 พ.ค. 2541 14:15:45]


ความคิดเห็นเพิ่มเติม : คุณขอแจมครับ,
จะอย่างไรก็ไม่สามรถจ้างงานแบบปีต่อปีได้ครับ เนื่องจาก พ.ร.บ.คุ้มครองแรงงาน พ.ศ.2541 ได้กำหนด
ไว้ชัดเจนว่าการจ้างงานที่นายจ้างมีเจตนาให้ลูกจ้างไม่ได้ทำงานติดต่อกัน เพื่อไม่ให้ได้สิทธิตามกฎหมายนี้
ให้นับเวลาทำงานทุกช่วงมารวมกัน ไม่ว่าการจ้างแต่ละช่วงจะมีเวลาห่างกันเท่าใดก็ตาม
ฉะนั้น กรณีจ้างเป็นปีๆ กฎหมายนี้ก็ได้ป้องกันไว้แล้ว (มาตรา 20)

คุณ elvis,
ธุรกิจขนาดเล็กหากจะเลิกจ้าง แล้วต้องจ่าย 10 เดือน ก็ต่อเมื่อเลิกจ้างลูกจ้างที่มีอายุงาน
10 ปีขึ้นไป คาดว่ามีธุรกิจขนาดเล็กน้อยรายที่จะมีลูกจ้างทำงานนานถึง 10 ปี และหาก
จะต้องเลิกจ้างเพื่อลดค่าใช้จ่ายจริง ควรเลือกหลัก First In Last Out ดีกว่า เลิกจ้าง
ลูกจ้างที่เพิ่งเข้างานมาไม่นาน เสียค่าชดเชยต่ำกว่ามาก (มาตรา 118)

คุณ meaw meaw,
กฎหมายคุ้มครองแรงงานโดยหลักการเป็นกฏหมายคุ้มครองลูกจ้างอยู่แล้ว แต่ในบางประเด็น
กฎฎหมายฉบับนี้กลับลดสิทธิประโยชน์ของลูกจ้างลงจากกฎหมายเดิม (ปว.103) ได้แก่ กรณี
ที่นายจ้างหยุดดำเนินกิจการโดยมิใช่เหตุสุดวิสัย เช่นน้ำท่วม ไฟไหม้โรงงาน ทางกฎหมายเดิม
นายจ้างยังต้องจ่ายค่าจ้างเต็มให้แก่ลูกจ้าง แต่กฎหมายฉบับนี้ จ่ายได้ไม่ต่ำกว่ากึ่งหนึ่งของค่า
จ้างปกติ ลดลงไปถึงครึ่ง เป็นเรื่องที่ช่วยเหลือนายจ้างชัดเจน (มาตรา 75)

คุณอาเส็ง,
เป็นไปได้ที่บริษัทจะตัดสินใจเช่นนั้น โดยเฉพาะเมื่อทราบว่า 19 สิงหาคม จะเป็นวันที่มีผลบังคับ
แต่ทว่าหากบริษัทของคุณบอกเลิกจ้างคุณล่วงหน้าน้อยกว่ารอบการจ่ายค่าจ้าง กล่าวคือ หากคุณ
ได้รับเงินเดือน เดือนละครั้ง ต้องแจ่้งล่วงหน้า 30 วัน หากคุณได้เดือนละ 2 ครั้ง ต้องแจ้งคุณ
ล่วงหน้า 15 วัน หากบริษัทแจ้งล่วงหน้าน้อยกว่า หรือแจ้งแล้วให้ออกเลย คุณสามารถไปฟ้อง
ที่ศาลแรงงาน ถ.พระราม 4 ได้ทันที ไม่เสียค่าฤชาอากร และไม่ต้องใช้ทนายในการดำเนินคดี
(สินจ้างแทนการบอกกล่าวล่วงหน้าบังคับในประมวลกฎหมายแพ่งและพาณิชย์)

คุณ biggy@thaimail.com,
การที่จะไล่ออกโดยทำหนังสือเตือน แล้วไล่ออกเลยโดยไม่จ่ายค่าชดเชยนั้น จะกระทำได้ก็ต่อเมื่อ
เป็นการเตือนเป็น"หนังสือ" และเป็นการเตือนเนื่องจากผิดวินัยในการทำงานตามข้อบังคับเกี่ยวกับ
การทำงานของบริษัทฯ และลูกจ้างต้องกระทำความผิดนั้นซ้ำ เป็นครั้งที่ 2 ภายในระยะเวลา 1 ปี
แต่หากมิใช่ความผิดร้ายแรง หรือไล่ออกโดยมิได้ทำความผดซ้ำ หรือ ความผิดที่เกิดขึ้นหลังหนังสือ
เตือน เป็นความผิดคนละเรื่องกัน เช่น เตือนการสูบบุหรี่ แต่ไล่คุณออกเพราะทำความผิดอีกโทษฐาน
เข้างานสาย เช่นนี้ไม่เข้าข่าย ถือว่าเปนการเลิกจ้างโดยไม่เป็นธรรม ได้ค่าชดเชยเต็ม และยังมี
สิทธิได้สินจ้างแทนการบอกกล่าวล่วงหน้าด้วย (มาตรา 119)

คุณมหาหิงค์,
โดยความจริงแล้วกฎหมายใหม่ที่ออกมาก็ใช่จะมีผลอย่างเห็นได้ชัดนัก เนื่องจากนายจ้างไม่ทราบ
และลูกจ้างเองก็ไม่เข้าใจ บ้างก็เกรงการขึ้นศาลแรงงาน ทั้งที่ความจริงสะดวกกว่าศาลอื่นมาก
ส่วนประเด็นที่ว่าลงเหวหรือไม่นั้น กฎหมายฉบับนี้ถือได้ว่าเป็นกฎหมายในระดับก้าวหน้าที่น่า
ภูมิใจของไทย อาจเรียกได้ว่าเป็นกฎหมายแรงงานที่ดีกว่าอีกหลายร้อยประเทศ

คุณ Mr.Casper,
ถูกต้องครับ อายุงาน ไม่ถึง 120 วัน ไม่ได้รับค่าชดเชย อายุงาน 120 วันขึ้นไป ได้ 1 เดือน
อายุงานครบ 1 ปี ไม่ถึง 3 ปี ได้ 3 เดือน อายุงาน 3 ปีขึ้นไป ได้ 6 เดือน เป็นกฎหมายเดิม
ที่เพิ่มมาใหม่คือ อายุงานครบ 6 ปีขึ้นไป ได้ 8 เดือน (240 วัน) ครบ 10 ปีขึ้นไป ได้ 10 เดือน
(300 วัน) (มาตรา 118)

คุณเอ้,
การเลิกจ้างในประเด็นเนื่องจากนายจ้างปรับปรุงกระบวนการทำงาน การผลิต อันเนื่องมาจากการ
ใช้เทคโนโลยี หรือเครื่องจักรนี้ จะมีในส่วนที่คุณคิด คือ ลูกจ้างที่มีอายุงาน 6 ปีขึ้นไป จะมีสิทธิ
ได้ค่าชดเชยพิเศษเพิ่มขึ้น แต่ทั้งนี้รวมทั้งสิ้นก็จะยังไม่เกิน 30 เดือน (ไม่รวมค่าชดเชยปกติ)
และยังมีสิทธิได้รับค่าชดเชยพิเศษแทนการบอกกล่าวล่วงหน้าอีก 2 เดือน (มาตรา 121 และ 122)
อนึ่ง เห็นด้วยเป็นอย่างยิ่งใน 3 ย่อหน้าท้ายของคุณครับ
โดยคุณ : 354420 - [18 พ.ค. 2541 15:04:53]


ความคิดเห็นเพิ่มเติม : ผมยังข้องใจว่า การเขียนกฎหมายอันใหม่นี้
เอาข้อมูลอะไรเป็นบรรทัดฐานในการ
วัดว่า 6 เดือน 10เดือน

ให้ผมเดาด้วยความรู้กฎหมายอันน้อยนิด
ผมก็เข้าใจว่ากฎหมายตัวใหม่นี้เป็นการสร้างกลไก
เพื่อคุ้มครองลูกจ้างเมื่อถูกเลิกจ้าง
อย่างที่ผมบอก 6 เดือน กับ 10 เดือน
ทางการเอาข้อมูลอะไรเป็นพื้นฐานในการวัด
ผมขอพูดแทนเสียงฝั่งนายจ้าง
"แล้วผมจะทราบได้อย่างไรว่าอีกหน่อยจะไม่เป็น 12 เดือน"

ผมเข้าใจครับว่า กลไกในการคุ้มครอง
ลูกจ้างมันจำเป็นต้องปรับปรุง
แต่การเปลี่ยนจาก 6 เป็น 10 เดือน
เป็นการปรับปรุงที่สร้างผลกระทบในแง่ลบหรือเปล่า
แล้วถ้านายจ้างอยู่ไม่ได้ แล้วลูกจ้างจะอยู่ได้หรือ

ปัจจุบันการทำงานไม่ได้มีอยู่แค่ลูกจ้างกับนายจ้างอย่างเดียว
เราต้องมองถึงอนาคตด้วย
ผมคงไม่เพิ่มเงินเดือนพนักงานอะไรง่ายๆแล้ว
ผมคงต้องพิจารณาตัวเลขการจ่ายค่าชดเชยอันนี้มากๆ
เพราะมีผลต่างกันถึง 40 เปอร์เซนต์

ผมยังรู้สึกยังมีกลไกอื่นๆ
อีกมากมายในการสนับสนุน และบังคับ
ให้ลูกจ้างได้เกิดการออม
เช่นพวกกองทุน สำรองเลี้ยงชีพ ประกันเงินเดือนต่างๆ
ผมรู้สึกกองทุนเหล่านี้น่าสนับสนุนให้เพิ่มประสิทธิภาพ
และคุณภาพในการบริหาร ไว้เผื่อเศรษฐกิจพังอย่างนี้
เท่าที่ผมทราบมา พวกกองทุนสำรองเลี้ยงชีพ
กำลังจะเป็นกองทุนสำรอง "สิ้นชีพ"
เพราะทางการให้พวก ธนาคารเอกชนเข้าไปบริหาร
แล้วพวกธนาคารเอกชนตัวแสบนี่แหละ
เอาเงินไปอุ้มหุ้นพวกทรัสต์เน่าในเครือข่ายตัวเอง
ผมคงไม่พูดเรื่องความเลวของธนาคารไทยมาก
เดี๋ยวจะกลายเป็นคุยเรื่องอื่น

อยากให้มองดูประวัติศาสตร์กันนิดนึง
ย้อนไปปี 1920 กว่า ที่อเมริกาก็เกิด
กลียุคทางเศรษฐกิจ คนตกงานมากกว่า 50%
ทางการเค้าก็สำรวจตัวเองก็พบว่า
ระบบการป้องกันลูกจ้างของตนเอง
ไม่เข้มแข็งเหมือนทางยุโรป
ทางรัฐบาลก็เกิดความคิดสร้างกลไกลูกจ้างขึ้นมา
เช่นการเก็บภาษีหักจากเงินเดือน
เพื่อเข้ากองทุนต่างๆ
คนทำงานเงินเดือนน้อยปีนึงแทบจะไม่มีเงินเก็บ
เพราะเอาเงินไปถมพวกกองทุนต่างๆ
อย่างเช่นพวก กองทุนเพื่อคนเกษียณเป็นต้น

ผมว่าการบริหารเงินเดือน เป็นเรื่องละเอียดอ่อน
มันเป็นปรัชญาในการบริหารเหมือนกัน
ถ้ารัฐฯรีดเงินเข้ากองทุนมาก
คนก็จะมีเงินในกระเป๋าน้อย
แต่ได้ลดความเสี่ยงจากการตกงานได้มาก
แต่ถ้ารีดเงินน้อย คนทำงานต้องเก็บออมเอาเอง
(ซึ่งผมไม่แน่ใจว่าคนไทยจะทำได้หรือเปล่าถ้าไม่มีการบังคับ)
ที่ผมพูดเรื่องกองทุน จะว่านอกเรื่องก็ได้
แต่ผมว่ามันเกี่ยวกับการบริหารเงินเดือนโดยตรงนะ
ผมคงพูดเรื่องนี้ แค่นี้ให้เป็นแนวคิด

ผมชอบให้มีการเสนอความคิดกันมากๆ
ในกระทู้แบบนี้ ผมว่ามันมีประโยชน์นะ
โดยคุณ : ชอแจม - [18 พ.ค. 2541 22:00:18]


ความคิดเห็นเพิ่มเติม : คุณ3544120
ขอบคุณที่ให้รายละเอียดที่ชัดเจน
ขนาดผมมีพระราชบัญญัติคุ้มครองแรงงาน
2541 อยู่ในมือยังพลิกตามไม่ทัน
ขอให้เจริญในหน้าที่การงานครับ
โดยคุณ : มหาหิงค์ - [18 พ.ค. 2541 22:28:57]


ความคิดเห็นเพิ่มเติม : คุณขอแจมครับ,

เป็นไปได้ตามประเด็นที่คุณกล่าวมาอยู่บ้าง แต่อย่างไรก็ตาม ลักษณะของกองทุนสำรองเลี้ยงชีพ
ซึ่งจะมีการแต่งตั้ง "ผู้จัดการกองทุน" นั้น ผู้จัดการกองทุนจะต้องบริหารกองทุนไปตามระเบียบที่
ได้กำหนดไว้ อาทิ การลงทุนในหลักทรัพย์ไม่เกินสัดส่วนเท่าใดของทั้งกองทุน เป็นต้น แต่กรณีที่
คุณเสนอมาว่าธนาคารเอกชนบางแห่งเอาเงินกองทุนไปพยุงฐานะทางการเงินของตนนั้น เชื่อว่าเป็น
กรณีที่เข้าข่าย ธนาคาร(ซึ่งไม่ใช่ผู้จัดการกองทุน)นำเงินฝาก ซึ่งเป็นเงินฝากของกองทุนสำรองเลี้ยง
ชีพ โยกย้ายไปพยุงฐานะของตน ซึ่งก็นับว่าเป็นไปได้ แต่ธนาคารก็ต้องสำรองเผื่อหากกองทุนขอ
ถอนเงินออกมาด้วย ลำพังการเป็นผู้จัดการกองทุนจะไม่มีสิทธิในการโยกย้ายเงินแต่อย่างใดครับ
เพราะนอกจากจะมีระเบียบที่ระบุไว้แล้ว ยังมีหน้าที่ที่จะต้องบริหารให้เกิดกำไรงอกเงย และรายงาน
ผลการจัดการให้สมาชิกกองทุนทราบ ทุกๆ 6 เดือนครับ

การที่กองทุนสำรองเลี้ยงชีพเกิดปัญหา อาจเนื่องจากไปลงทุนในหุ้นกู้มากเกินไป หุ้นกู้มีราคาตาม
หน้าบัญชีที่เปลี่ยนแปลงไปตามสภาวะซื้อขาย แต่ว่าเมื่อถึงกำหนดแล้ว ผู้ออกหุ้นกู้จะต้องซื้อหุ้นกู้นั้น
คืนในราคาที่ตนเสนอไว้ หากบริษัทนั้นไม่ล้มเสียก่อน หรือกองทุนไม่ขายหุ้นกู้ก่อน การลงทุนใน
หุ้นกู้ก็นับได้ว่ามีกำไรสูงพอสมควรครับ

ส่วนกรณีการกำหนดอัตราค่าชดเชย 1 3 6 และ 10 เดือนนั้น เท่าที่ทราบไม่มีการระบุที่มาแน่ชัด
แต่เชื่อว่าอิงอยู่กับหลัดกการที่ว่า การเลิกจ้าง นายจ้างมักจะเลิกจ้างพนักงานที่ทำงานมานานแล้ว
เพราะนอกจากอายุสูงขึ้น อัตราค่าจ้างก็สูงกว่าด้วย และหากต้องถูกเลิกจ้าง เขาก็ควรมีสิทธิอันชอบ
ที่จะได้รับเงินชดเชยสูงกว่าอันเนื่องมาจากเวลาที่เขาได้สละให้แก่นายจ้างนั้นยาวนานกว่าลูกจ้างคนอื่นๆ

นายจ้างอาจไม่พอใจ และเกรงว่าอาจจะเป็น 12 หรือ 15 เดือนได้ในกฎหมายฉบับใหม่ แต่ทั้งนี้ก็เช่น
เดียวกันกับกฎหมายอื่นๆ หากขับรถฝ่าไฟแดง ต่อไปอาจถูกระบุให้เปรียบเทียบปรับสูงมากกว่านี้
เพราะถือว่าเป็นการฝ่าฝืนกฎหมาย การเลิกจ้างโดยไม่จ่ายค่าชดเชย ก็ถือเป็นการผิดกฎหมาย
เช่นเดียวกัน และการออกกฎหมายแต่ละฉบับ ก็คงผ่านการเสนอ พิจารณ์ และล็อบบี้จากทุกๆฝ่าย

เชื่อเถิดครับ ว่าองค์กรฝ่ายนายจ้างนั้น เข้มแข็งและมีอิทธิพลต่อการออกกฎหมายมากกว่าลูกจ้างมาก
มายนัก
โดยคุณ : 354420 - [19 พ.ค. 2541 07:19:04]


ความคิดเห็นเพิ่มเติม : ขอเสนอข้อมูลเพิ่มเติมด้วยครับว่าความคิดในการแก้ไขกฎหมายฉบับนี้เป็นสิ่งที่มีมานานแล้ว
แน่นอนว่าคนที่ผลักดันให้มีการแก้ไขคือฝ่ายลูกจ้าง เวทีที่มีการพูดถึงการแก้ไขกฎหมายนี้อย่าง
เป็นระบบและยาวนานที่สุดคือสภาที่ปรึกษาเพื่อพัฒนาแรงงานแห่งชาติ ซึ่งเป็นองค์กรไตรภาคีที่
มีผู้แทนทั้ง ๓ ฝ่ายจากรัฐ นายจ้างและลูกจ้างร่วมกัน แต่การผลักดันนี้ก็ไม่สำเร็จ และไม่มีรัฐบาล
ชุดไหนรับฟัง เพราะองค์กรฝ่ายนายจ้างให้เหตุผลคัดค้านการแก้ไขกฎหมายมาโดยตลอดดังที่ฝ่าย
354420 กล่าวไว้

เหตุผลที่นายจ้างให้ไว้นั้นชัดเจนมาก พวกเขาอ้างว่าการเพิ่มค่าชดเชยจะทำให้ต้นทุนการผลิตสูงขึ้น
ไม่เป็นผลดีต่อการจ้างงานและการลงทุนของประเทศ โดยไม่ได้ตอบปัญหาข้อเท็จจริงง่ายๆ ว่า
สัดส่วนต้นทุนแรงงานในการผลิตสินค้าชิ้นหนึ่งในประเทศไทยโดยเฉลี่ยนั้นอยู฿่ที่ร้อยละ ๑๒ เท่านั้น
ซึ่งเป็นสัดส่วนที่ต่ำมากจนแทบไม่มีผลอย่างที่แท้จริงต่อราคาสินค้าเลยด้วยซ้ำ เมื่อเปรียบเทียบกับ
ต้นทุนประเภทอื่นๆ เช่นต้นทุนค่าขนส่ง ต้นทุนวัตถุดิบ ต้นทุนด้านการตลาด ฯลฯ

ระยะเวลาในการแก้ไขกฎหมายที่นับจากวันเริ่มเสนอจนวันถูกแก้ไขจริงที่ยาวนานกว่า ๑๕ ปี
การถูกตีกลับจากกระทรวงแรงงานและรัฐบาลต่างๆ ถึง ๒-๓ ชุด ความเข้มแข็งกว่าขององค์กร
ฝ่ายนายจ้าง ทั้งหมดนี้คงเป็นหลักประกันได้ว่าการแก้ไขกฎหมายแรงงานให้เพิ่มขึ้นเป็น ๑๒ เดือนคง
ไม่เกิดขึ้นแน่ อย่างน้อยคงไม่เกิดขึ้นในประเทศไทย

ปัญหาการสร้างความเข้มแข็งกับระบบสวัสดิการลูกจ้างเป็นเรื่องน่าสนใจ เพราะการผ่านกฎหมาย
ประกันสังคมในปี ๒๕๓๓ นั้นเกิดขึ้นท่ามกลางการคัดค้านของนายจ้างและวุฒิสมาชิกอย่าง
รุนแรง จริงอยู่ว่านายจ้างที่มีโลกทัศน์ยาวไกลและคำนึงถึงความเป็นธรรมทางสังคมคงมีอยู่บ้าง
แต่ปัญหาคือนายจ้างส่วนนี้ไม่ใช่นายจ้างส่วนที่มีฐานะครอบงำกิจกรรมของสภานายจ้างไทย

การเรียกร้องให้ขยายขอบเขตกองทุนประกันสังคมในปัจจุบันให้ครอบคลุมถึงการว่างงาน ถูก
นายจ้างคัดค้านอีกเช่นกัน พวกเขาอ้างว่าการขยายกองทุนในสถานการณ์ที่ธุรกิจขาดสภาพคล่อง
เป็นเรื่องไม่เหมาะสม ทำให้การผลิตมีต้นทุนสูงขึ้น ฯลฯ โดยที่รัฐบาลก็อ้างเช่นเดียวกันนี้ว่า
คลังไม่มีงบประมาณ แต่ทั้งสองฝ่ายก็พิจารณาปัญหานี้โดยมองข้ามข้อเท็จจริงง่ายๆ ไปอีกเช่นกันว่า
ลูกจ้างได้รับผลกระทบจากวิกฤตเศรษฐกิจทุกวันนี้ยิ่งกว่านายจ้าง ขณะที่นายจ้างเผชิญปัญหาขาด
สภาพคล่องขาดเงินหมุนเวียน ลูกจ้างกำลังเจอปัญหาทำงานโดยได้ค่าแรงเฉลี่ยชั่วโมง ๒๐-๓๐ บาท
เศษ และกำลังจะถูกเลิกจ้างถูกตัดโอทีมากขึ้นเรื่อยๆ ไม่ต้องพูดถึงปัญหาสภาพคล่องเพราะสำหรับ
ลูกจ้างนั้น สิ่งที่เรียกว่า "สภาพคล่อง" ไม่่เคยมีอยู่ในสารบบของชีวิตทางเศรษฐกิจของพวกเขาอยู่แล้ว

ถ้านายจ้างอยู่ไม่ได้ ลูกจ้างย่อมอยู่ไม่ได้อย่างแน่นอน แต่สิ่งที่เกิดขึ้นในประเทศของเรา กิดขึ้นใน
ระบบอุตสาหกรรมแบบที่ประเทศเราใช้ก็คือ ในขณะที่นายจ้างอยู่ได้และอยู่อย่างดี ลูกจ้้างกลับเป็น
ฝ่ายที่ "อยู่ไม่ได้" มานานแล้ว จะทำอย่างไรดีครับกับสภาพแบบนี้ นายจ้างที่ดีทั้งหลายพอจะมีข้อ
เสนอระดับมหภาพอะไรบ้างไหม
โดยคุณ : เอ้ - [19 พ.ค. 2541 11:55:06]


ความคิดเห็นเพิ่มเติม : ขอบคุณเพื่อนๆที่เข้ามาตอบกระทู้ของผม
ผมได้ความรู้เพิ่มอะไรขึ้นอีกเยอะเลยครับ

ผมค่อยๆเรียงลำดับความคิดที่ละเรื่อง
ปรากฎว่าผมดันเอาความคิด
ของคนทำงาน(หมายถึงคนงานทำงานในโรงงาน)
กับคนทำงานออฟฟิซมาปนกัน

ที่ผมรู้สึกห่วงหมายถึงพวกบริษัทที่ต้องจ้าง
คนกินเดือนหลายๆหมื่นเป็นร้อยๆพันๆคนอย่างนั้นน่ะ
ผมนึกแล้วขนลุกแทน

เอาละครับเมื่อผมคิดถึงจุดนี้
ผมก็เลยอยากเสนอความคิดว่า
รัฐบาลน่าจะเขียนกฎหมาย
ที่มีความหลากหลาย โดยเน้นกลุ่มคนกินเงินเดือนน้อย
ให้มากเข้าไว้
ที่แบ่งคนเป็นกลุ่มๆให้ละเอียด เช่นตามเงินเดือนเป็นต้น
เพราะถ้าล่อเหมาหมดอย่างนี้
ผมรู้สึกอึดอัดยังไงพิกล

ผมรู้ว่ามันยากที่จะปฎิบัติให้เกิดความสะดวก
จากกฎที่มีรายละเอียดมาก
เพราะถ้ากฎแบ่งให้ละเอียดขึ้น ความสับสนก็ตามมา
แต่ผมไม่รู้ว่าค่าใช้จ่ายที่เพิ่มขึ้นจากการแบ่งกลุ่มให้ละเอียดขี้น
กับ กฎที่ไม่ได้สร้างกลไกที่เหมาะสม อันไหนจะแพงกว่ากัน

เฮ้อยังไงกฎหมายก็ออกไปแล้ว
ทำไงได้.....ทำใจดีกว่า
แล้วขอเป็นลูกจ้างดีกว่า(เป็นอยู่แล้ว)
โดยคุณ : ขอแจม - [19 พ.ค. 2541 15:26:53]


ชื่อ/email ของคุณ :
รายละเอียด :