กรุงเทพธุรกิจฉบับ วันพุธที่ 6 มกราคม พ.ศ.2542


'ถวัติ ฤทธิเดช' วีรบุรุษกรรมกรที่ถูกลืม

เช่นเดียวกับพิธีศพที่เงียบเชียบของถวัติ เรื่องราวในอดีตของผู้นำกรรมกรยุคแรก จึงถูกซุกไว้ในกาลเวลา มาเนิ่นนาน และคนไทยรุ่นหลังไม่เคยได้ยินแม้ชื่อมาก่อน บัดนี้เรื่องราวการต่อสู้ของเขาได้รับการค้นคว้าและเผยแพร่อีกครั้งหนึ่ง นริศสา สุขสนั่น แนะนำวีรบุรุษกรรมกรยุคแรกให้รู้จัก



ถวัติ ฤทธิเดช นักต่อสู้เพื่อกรรมาชีพยุคแรก

สายตาที่มองผู้ใช้แรงงาน หรือกรรมกร เป็นกลุ่มคนระดับล่าง เนื่องจากหาเลี้ยงชีพด้วยแรงกาย ดังนั้น จึงไม่มีที่ว่างให้พวกเขายืนอยู่ในประวัติศาสตร์ ซึ่งมักจะถูกบันทึกโดยมีผู้มีอำนาจเป็นแกนกลางเท่านั้น

เช่นเดียวกัน "ถวัติ ฤทธิเดช" ผู้นำกรรมกรที่โดดเด่นที่สุดในยุคเปลี่ยนแปลงการปกครอง 2475 ทว่า ผู้คนส่วนใหญ่กลับไม่รู้จัก หรือมองว่าเขาเป็นคนอยากดังจากการกระทำหลายๆ อย่าง ที่ประชาชนคนไทยไม่ทำกัน

เขาเคยเขียนฎีกาเพื่อนำเสนอปัญหาของราษฎร และเป็นสามัญชนคนแรกในประวัติศาสตร์ไทย ที่อาจหาญฟ้องหมิ่นประมาทสมเด็จพระปกเกล้าเจ้าอยู่หัว ต่อสภาผู้แทนราษฎร

เขาเป็น "วีรบุรุษคนแรกของชนชั้นกรรมกร" ที่เคยร่วมเรียกร้องค่าแรงให้กรรมกรและเรียกร้องเวลาทำงานให้มีไม่เกินวันละ 8 ชม.และสัปดาห์ละไม่กิน 48 ชม.

ถวัติ เคยคบหาอยู่กับ "นรินทร์ ภาษิต" ฉายาคนขวางโลก แต่ลักษณะการขวางโลกของเขาไม่เหมือนกับของนรินทร์ และไม่มีสีสันเท่า

เขาอยู่ในวงการหนังสือพิมพ์ แต่วงการหนังสือพิมพ์ไม่ได้จารึกชื่อของถวัติไว้ในระดับเดียวกับที่กระทำต่อ "ศรีบูรพา" และ "แม่อนงค์"

เขาได้เข้าไปเกี่ยวข้องกับกิจกรรมทางการเมือง และคุ้นเคยกับผู้นำการเมืองสายนายปรีดี พนมยงค์ แต่ก็มิเคยได้รับยศถาบรรดาศักดิ์ และผลประโยชน์ใดๆ ในฐานะนักการเมือง แม้ว่าเขาจะมีโอกาสเข้าสู่อำนาจทางการเมือง แต่ก็ปฏิเสธอย่างไม่แยแส

เขาจบชีวิตลงอย่างเงียบเหงา ด้านโรคภัยไข้เจ็บ โดยไม่มีการแสดงความอาลัยอาวร จากคนที่เคยช่วยเหลือ มีเพียงคนใกล้ชิด และคนในครอบครัวที่มีเงินติดตัวรวมกันเพียง 1 บาท และก่อนที่เขาจะลาโลก ยังต้องตกอยู่ในสภาพไร้ที่อยู่อาศัย และพาครอบครัวไปนอนประท้วงที่หน้าทำเนียบรัฐบาล 2 วัน 1 คืน

รายละเอียดในชีวิตของวีรบุรุษกรรมกรท่านนี้ ถูกรวบรวมโดย ศิโรตม์ คล้ามไพบูลย์ นักศึกษาปริญญาโท สาขาการเมืองการปคกรอง คณะรัฐศาสตร์ มหาวิทยาลัยธรรมศาสตร์ กับ "ชีวิต ความคิด และการต่อสู้ของ ถวัติ ฤทธิเดช เมื่อแรงงานคิดหาญเปลี่ยนแปลงโลก" เพื่อเสนอต่อการชำระประวัติศาสตร์แรงงานไทย ซึ่งพิพิธภัณฑ์แรงงานไทย ร่วมกับภาควิชาประวัติศาสตร์ คณะอักษรศาสตร์ จุฬาฯ และมูลนิธิฟรีดริด เอแบร์ท ร่วมกันจัดทำทั้งในภาคเหตุการณ์สำคัญ และตัวบุคคลที่มีคุณูปการต่อแรงงานไทย

ในรายงานของเขากล่าวถึงความเป็นมาของ ถวัติ ฤทธิเดช ว่าเกิดเมื่อเดือนมีนาคม 2435 ที่ อ.บางช้าง จ.สมุทรสงคราม ในรัชสมัยของพระบาทสมเด็จพระจุลจอมเกล้าเจ้าอยู่หัว และได้บวชเรียนเป็นสามเณรที่วัดยายวัง อ.อัมพวา กระทั่งอุป-สมบท และย้ายเข้าสู่กรุงเทพฯ เพื่อศึกษาวิชาทางธรรมต่อที่วัดเทพศิรินทร์ เมื่อสอบได้มหา จึงลาสิกขาบทเพื่อประกอบสัมมาวิชาชีพเช่นคนทั่วไป

ถวัติ เริ่มชีวิตทางโลกโดยการรับราชการเป็นครั้งแรกเมื่อ พ.ศ.2460 ในฐานะเสมียนที่กรมอู่ทหารเรือ หลังจากทำงานได้เพียง 4 ปี ก็รู้สึกเบื่อหน่ายจนตัดสินใจลาออก และเดินเข้าสู่ถนนของนักหนังสือพิมพ์ เมื่อกลางปี 2466 ขณะที่เขามีอายุประมาณ 31 ปี โดยร่วมกับนายวิชัย ประสังสิต เพื่อนในสมัยบวชเรียนที่วัดเทพศิรินทร์ จัดทำหนังสือพิมพ์รายวันชื่อ "สยามสักขี" พร้อมกับจัดทำหนังสือพิมพ์รายสัปดาห์ของตนเอง คือ "หนังสือพิมพ์กรรมกร"

แต่การผลิตหนังสือพิมพ์สยามสักขี เต็มไปด้วยอุปสรรค ถวัติจึงยื่นใบลาออกจากตำแหน่งบรรณาธิการสยามสักขี และหันไปทุ่มเทให้กับหนังสือพิมพ์กรรมกรอย่างเต็มตัว โดยเขาได้ระบุสาเหตุในการจัดทำหนังสือพิมพ์กรรมกรว่า เพื่อผดุงอิสรภาพ และสิทธิของพวกกรรมกร หรือปลุกกรรมกรให้ตื่นขึ้นจากการหลับ ตลอดจนปลุกประชาชนทั่วไปให้เป็นคนดี รู้จักหน้าที่ และคอยผจญต่อต้านเหล่าอำมาตย์ทุจริตซึ่งคิดมิชอบ

นสพ.กรรมกรฉบับแรก วางแผนในช่วงไล่เลี่ยกับการนัดหยุดงานครั้งใหญ่ของคนงานรถรางจำนวน 300 คนเศษ เพื่อประท้วงนายจ้างเรื่องระเบียบ ข้อบังคับ และบทลงโทษต่างๆ ที่รุนแรงและแข็งกร้าว แม้ว่าจะมีการไกล่เกลี่ยได้สำเร็จ แต่นายจ้างก็ไม่แก้ไขระเบียบตามที่ตกลงกันไว้ได้ คนงานรถรางจึงนัดหยุดงานอีกครั้ง

ตั้งแต่วันแรกที่คนงานรถรางนัดหยุดงาน หนังสือพิมพ์ของถวัติ ได้ทำหน้าที่เป็นปากเสียงของผู้ใช้แรงงานมาโดยตลอด ทั้งข่าวและบทความเกี่ยวกับสิทธิกรรมกรด้านต่างๆ จนกล่าวได้ว่าเป็นประเด็นหลักของหนังสือพิมพ์ อีกทั้งยังมีบทความที่วิจารณ์และต่อต้านชนชั้นนายจ้างอย่างรุนแรง

หลังจากหนังสือพิมพ์กรรมกรออกวางแผงได้ไม่นาน เจ้าพระยามหิธร เสนาบดีกระทรวงมุรธาธร ซึ่งใกล้ชิดกับพระบาทสมเด็จพระมงกุฎเกล้าเจ้าอยู่หัว ทำหนังสือถึงราช เลขาธิการ ว่าในเรื่องหนังสือพิมพ์กรรมกรนั้น "ให้นำขึ้นทูลเกล้าฯเป็นหนังสือแรกออกที่ควรจัดเสนอทูลเกล้าฯ เสียก่อน" และระบุว่า "ขอให้เจ้าคุณผู้ช่วยอ่านตรวจดูเสียก่อนว่า จะเห็นประการใด"

ในที่สุด กรมราชเลขาธิการก็ตกลงทูลเกล้าฯถวายหนังสือพิมพ์กรรมกร เพื่อให้พระบาทสมเด็จพระเจ้าอยู่หัวรัชกาลที่ 6 ทรงมีพระราชวินิจฉัย แต่ก็ไม่ปรากฏหลักฐานว่า พระบาทสมเด็จพระมงกุฎเกล้าเจ้าอยู่หัว ทรงมีพระราชวินิจฉัยอย่างไรต่อหนังสือพิมพ์ของถวัติ

ฐานะทางการเงินของหนังสือพิมพ์กรรมกรไม่ค่อยดีนัก แต่การที่หนังสือพิมพ์มีอายุยืนยาวถึง 3 ปี ก็หมายความว่า ต้องมีผู้อ่านมากพอ สมควร แต่ก็จำต้องหยุดกิจการไปในปี 2467

หลังจากนั้นถวัติได้รวบรวมสมัครพรรคพวกซึ่งมีอุดมการณ์ ร่วมกัน เปิดหนังสือพิมพ์รายสัปดาห์ฉบับใหม่ ชื่อ "วิเศษพิศูจน์" แต่เกิดเหตุขัดข้องจึงเปลี่ยนชื่อใหม่เป็น "สหราษฎร์" ตีพิมพ์ได้ 3 ฉบับ ก็ เปลี่ยนชื่อใหม่อีกครั้งเป็น "ปากกาไทย" และเปลี่ยนจากรายสัปดาห์ เป็นรายวัน ตั้งแต่วันที่ 16 ธ.ค.2468 จำหน่ายฉบับละ 10 สตางค์ ขณะที่ค่าจ้างของกรรมกรในช่วงนั้นอยู่ที่ประมาณ 50 สตางค์ต่อวัน "ปากกาไทย" ยังเต็มไปด้วยอุปสรรคเช่นเคย แต่ถวัติก็ยังใช้หนังสือพิมพ์เป็นกระบอกเสียงในการเผยแพร่ความคิดใหม่ๆ ไปสู่สังคมไทยได้อย่างมีประสิทธิภาพ และยาวไกล เพราะไม่เพียงแต่เผยแพร่ความคิดเรื่องความเสมอภาคและ ความเป็นธรรมไปสู่กรรมกรแล้ว แต่ถวัติได้ก้าวไปถึงขั้นวิพากษ์วิจารณ์ระบบขุนนาง ความเฉื่อยชาของระบบราชการ ระบบเส้นสาย รวมทั้งการโจมตีระบอบสมบูรณาญาสิทธิราชย์ในองค์รวมอีกด้วย

บทบาทของถวัติในหนังสือพิมพ์ปากกาไทย และการแสดงความคิดเห็นไปในทางวิพากษ์วิจารณ์ และต่อต้านอำนาจรัฐอย่างรุนแรง และต่อเนื่องของหนังสือพิมพ์ฉบับนี้ ทำให้เขาถูกเจ้าพระยายมราช มีคำสั่งให้จับกุมตัวถวัติด้วยข้อหาหมิ่นประมาท ในสภาพที่ห้ามเยี่ยม ห้ามประกัน จนทำให้ปากกาไทยต้องหยุดพิมพ์ไปนาน 3 วัน

การถูกกลั่นแกล้งจากผู้มีอำนาจด้วยวิธีการต่างๆ ทำให้ถวัติลาออกจากบรรณาธิการปากกาไทย และลดบทบาทในฐานะนักหนังสือพิมพ์ลงได้ระยะหนึ่ง ก็นำเงินทุนที่ได้จากการทำหนังสือพิมพ์กรรมกรและปากกาไทย มาจัดตั้งองค์กร "สถานแทนทวยราษฎร์" โดยมีเจตนารมณ์ที่จะทำงานบริการเพื่อคนทุกกลุ่มอย่างไม่มีข้อยกเว้น และไม่จำกัดอยู่แต่เฉพาะผู้ใช้แรงงานเท่านั้น แต่เมื่อสถานแทนทวยราษฎร์ มีอายุยืนนาน และมีจำนวนสมาชิกสูงขึ้นเท่าไร ฐานะของถวัติก็เริ่มฝืดเคือง และลำบากยิ่งขึ้นเท่านั้น ในที่สุดก็ต้องปิดตัวเองลงไปในที่สุด

เมื่อเขาต้องกลายเป็นคนหมดตัว ก็หันไปทำการค้าเล็กๆ น้อยๆ ในช่วงปี 2471-2472 แต่ก็เต็มไปด้วยความยากลำบาก เพราะภัยจากอำนาจรัฐตามเขาอยู่ ขณะที่วัฒนธรรม "การเมืองเรื่องฎีกา" ขยายตัวขึ้น ราษฎรกลุ่มต่างๆ จึงพากันขอร้องให้เขาช่วยเขียนฎีการ้องทุกข์ปัญหาต่างๆ เพราะเขามีความรู้ความสามารถในทางหนังสือ

ในช่วงปี 2474-2475 ถวัติเขียนฎีกาถวายความคิดเห็นแด่พระบาทสมเด็จพระปกเกล้าเจ้าอยู่หัวไว้หลายฉบับ เพื่อเรียกร้องให้รัฐบาลแก้ไขปัญหาของคนกลุ่มต่างๆ ไม่ว่าจะเป็นนักโทษ ชาวนา คนว่างงาน ทั้งในนามของตนเอง และกลุ่ม ซึ่งเขาทำไปโดยไม่ได้รับค่าตอบแทนใดๆ โดยเฉพาะฎีกาฉบับวันที่ 8 ต.ค.2474 เรื่องการเสด็จพระราชดำเนินไปต่างประเทศ (อ่านจดหมายถึงในหลวง)

การต่อสู้เพื่อกรรมการ ทั้งจากการทำหนังสือพิมพ์ การตั้งสถานแทนทวยราษฎร์ทำให้เขาได้รับความเคารพนับถือจากผู้ใช้แรงงานอาชีพต่างๆ และได้รับชื่อเสียงจากการเขียนฎีกาจากกลุ่มอื่นๆ ในสังคมได้อย่างกว้างขวางมากยิ่งขึ้น

ศิโรตม์ ให้ความหมายของถวัติในเวลานั้นว่า "เป็นเสมือนผู้นำของราษฎรผู้ปราศจากอำนาจ และเมื่อโลกของอำนาจเปลี่ยนแปลงไปอย่างพลิกฟ้าคว่ำแผ่นดินพร้อมๆ กับการเปลี่ยน แปลงการปกครองอันยิ่งใหญ่เมื่อวันที่ 24 มิถุนายน 2475 ถวัติก็ชักธงของสามัญชน แล้วโบกสะบัดไปมาอย่างแรง"

ภายหลังการเปลี่ยนแปลงการปกครองได้ไม่นาน คณะราษฎร์อนุญาตให้ประชาชนจัดตั้งสมาคมที่มีลักษณะเดียวกับพรรคการเมืองได้ ในเดือนกันยายน 2475 ถวัติได้เปิดบ้านเพื่อต้อนรับผู้นำกรรมกรรถรางแห่งบริษัท สยาม คอร์ปอเรชั่น 6 คน โดยพวกเขาได้เล่าเรื่องความทุกข์ยากของกรรมกรให้ฟัง พร้อมกับขอร้องให้ถวัติทำหน้าที่เป็นปากเสียงในการต่อสู้ร่วมกัน

นายสาวิตร ฤทธิเดช บุตรของถวัติผู้อยู่ในเหตุการณ์วันนั้นเล่าว่า "กรรมกรต้องออกจากบ้านตั้งแต่ตี 4 เพื่อนำรถรางออกจากโรงเก็บทั้ง 4 แห่ง คือ ถนนตก สะพานเหลือง สี่แยกแม้นศรี และบางกระบือ ให้ทันเที่ยวแรกในเวลาตี 5 และเลิกเที่ยวสุดท้ายเวลา 4 ทุ่ม ขณะที่ได้รับเงินเดือน 35-70 บาท ขอให้คำนวณระยะเวลาการทำงานดูก็คงจะพออนุมานได้ว่า ชาวต่างชาติเขาใช้แรงงานคนไทยอย่างใด"

"สมาคมกรรมกรรถรางแห่งสยาม (ส.ร.ส.)" จึงถูกจัดตั้งขึ้นมาจากมติของที่ประชุมในวันนั้นเอง โดยคณะราษฎร์อนุมัติให้จัดตั้งได้เมื่อวันที่ 14 ต.ค.2475 และเป็นองค์กรที่ประวัติศาสตร์ต้องจารึกไว้เป็นองค์กรของผู้ใช้แรงงานแห่งแรกสุดในประเทศไทย

หลังจากตั้งสมาคมกรรมกรรถรางได้ไม่นาน ผู้ร่วมก่อตั้งก็ถูกบริษัทเลิกจ้าง และตัดเงินเดือน ถวัติจึงต้องทำหนังสือร้องเรียนถึงพระยามโนปกรณ์นิติธาดา นายกรัฐมนตรีในเวลานั้น และแม้ว่ากรรมกรรถรางจะไม่เคยก่อการกระทำใดๆ อย่างที่บริษัทหวาดระแวงว่าจะเกิดเหตุการณ์รุนแรงขึ้น แต่การที่มีถวัติเป็นผู้นำ และรวมตัวกันเป็นสมาคม ก็มีส่วนทำให้นายจ้างและรัฐบาลหวาดหวั่นมากขึ้น

ในที่สุดนายจ้างก็ตกลงรับผู้ถูกเลิกจ้างทั้งหมดกลับเข้าทำงาน และชะลอการบังคับใช้สัญญางานที่ไม่เป็นธรรมเอาไว้ก่อน หลังจากการนัดหยุดงานเพียงครึ่งวัน และหลังจากจัดตั้งสมาคมกรรมกรรถรางแห่งสยามเพียงครึ่งปี ถวัติ ฤทธิเดช ก็ประสบความสำเร็จในการต่อสู้เพื่อปกป้องสิทธิของผู้ใช้แรงงานอย่างงดงาม

นอกจากนี้ เขายังเป็นผู้มีบทบาทต่อคนงานโรงสี ทำให้ถวัติกลายเป็นขวัญใจของคนจำนวนมาก เป็นเหตุให้ชนชั้นในระบบใหม่จับตามองถวัติด้วยความสนใจมากขึ้น และเข้ามาทาบทามให้ลงสมัครรับเลือกตั้งเป็นสมาชิกสภาผู้แทนราษฎรเขตพระนคร แต่เขากลับปฏิเสธอย่างไม่ลังเล โดยให้เหตุผลว่า ตนเป็นเพียงกรรมกร ไม่มีความเหมาะสมที่จะเข้าไปทำหน้าที่อันทรงเกียรตินี้

คดีดื้อแพ่ง

เมื่อสงครามโลกครั้งที่ 2 สิ้นสุดลง ความยากแค้นทางเศรษฐกิจก็กดดันให้ผู้ใช้แรงงานรวมตัวกันอีกครั้ง โดยมีผู้นำแรงงานรุ่นใหม่ๆ เข้ามา ขณะที่ถวัติลดบทบาทไปอยู่เบื้องหลังอย่างเงียบๆ

อย่างไรก็ตาม เขาเริ่มเป็นข่าวอีกครั้ง เมื่อเกิดข้อพิพาทกับพระองค์เจ้าจุลจักรพงษ์ ใน "คดีดื้อแพ่ง" การฟ้องร้องทำให้เขาถูกขับไล่ออกจากบ้านพักปากคลองตลาด แต่เมื่อไม่สามารถย้ายออกได้ในเวลาที่กำหนด เนื่องจากขัดสนเงินทอง ศาลได้ส่งภรรยา และบุตรของถวัติทิ้งหมดไปขังที่สถานีตำรวจปากคลองตลาดเป็นเวลา 7 วัน ขณะที่พระยาพหลพลพยุหเสนา ก็ส่งคนมาช่วยประกันออกไป

เมื่อยังไม่สามารถหาที่พักได้ เขาต้องพาครอบครัวไปนอนประท้วงที่หน้าทำเนียบรัฐบาล เป็นเวลา 2 วัน 1 คืน ซึ่งได้รับความช่วยเหลือในการหาบ้านเช่าราคาถูกจากเลขานุการนายกรัฐมนตรี นอกจากนั้น เขาไม่ได้ขอความช่วยเหลือจากผู้นำคณะราษฎร์คนใด เพราะเกรงจะถูกครหาว่า ใกล้ชิดกับฝ่ายการเมือง จนทำให้ชื่อเสียงของตัวเองและกรรมกรต้องมัวหมอง

ถวัติยุติความเคลื่อนไหวในทุกด้านอย่างสิ้นเชิง รวมทั้งตัดขาดการติดต่อกับผู้นำแรงงานทุกคน เมื่อเกิดกรณีสวรรคตของรัชกาลที่ 8 จนเป็นเหตุให้จอมพล ป.พิบูลสงคราม และจอมพลพิน ชุณหะวัณ ใช้เป็นข้ออ้างในการรัฐประหารโค่นล้มรัฐบาลของนายปรีดี พนมยงศ์

หลังจากนั้น สุขภาพเขาเริ่มทรุดโทรม โดยเป็นโรคปวดศีรษะ และมาลาเรียลงกระเพาะอาหาร จนต้องเข้าโรงพยาบาล และนอนรักษาตัวแบบผู้ป่วยอนาถาได้ 5 วันก็ถึงแก่กรรม เมื่อวันที่ 5 มกราคม 2493 รวมอายุทั้งสิ้น 58 ปี หากเขายังมีชีวิตอยู่ถึงขณะนี้ จะมีอายุถึง 106 ปี

ผู้ค้นคว้าชีวิตของถวัติกล่าวถึงงานศพของเขาว่า "พิธีศพของผู้นำแรงงานที่ยิ่งใหญ่ที่สุดแห่งยุคสมัย เป็นไปอย่างเงียบเหงา ไม่มีพวงหรีดใดๆ ไม่มีผู้นำการเปลี่ยนแปลงท่านใดจากคณะราษฎร์เข้าร่วม มีเพียงครอบครัว และนายกสมาคมกรรมกรรถรางในเวลานั้น ที่เป็นประจักษ์พยานในการจากไปของบุคคลที่ยิ่งใหญ่ที่สุดในยุคสมัยของเขา"

"ถวัติเป็นคนที่มีความคิด มีอุดมการณ์ และเสียสละเพื่อส่วนรวมสูง เขาทำได้ดีเฉพาะการต่อสู้ร่วมกับกรรมกร แม้ว่าชนชั้นปกครองจะกล่าวหาว่า เขาไม่ใช่กรรมกรที่แท้จริงก็ตาม ซึ่งเป็นข้อกล่าวหาที่รัฐบาลในยุคนี้ก็ยังใช้กันอยู่ แต่ประวัติศาสตร์ของเขากลับไม่ปรากฏ และถูกบิดเบือน" ศิโรฒม์ กล่าวถึงที่มาของการให้ความสนใจที่จะค้นคว้าชีวิตของถวัติอย่างจริงจัง

นอกจากนี้ เขายังรู้สึกทึ่งกับการเรียกร้องของถวัติ เรื่องค่าแรงงานขั้นต่ำ และเวลาทำงานให้กรรมกรในสมัยนั้น เพราะใน พ.ศ.นี้ก็ยังพูดถึงเรื่องนี้กันอยู่

"ขบวนการแรงงานควรจะกลับมาทบทวนกันใหม่ หรือไม่ว่าข้อเรียกร้องของกรรมกรเรื่องการถูกกดขี่ยังไม่เคยเปลี่ยน เราทำงานกันน้อยไปไหม จึงถูกเอาเปรียบมาตลอด หรือว่าสังคมไทยผิดปกติ หรืออาจเป็นเพราะเราต่อสู้น้อยเกินไป"

"ถวัติ จะเป็นแรงบันดาลใจให้คนรุ่นปัจจุบันได้รู้ดี การเสียสละคืออะไร และการต่อสู้ของผู้นำแรงงานในสมัยนั้น ต่อสู้กันขนาดไหน"

หากแม้เพียงเศษเสี้ยวหนึ่งของชีวิต "ถวัติ ฤทธิเดช" จะถูกเปิดเผยบ้างอย่างไม่บิดเบือน และเป็นด้านที่ไม่เคยปรากฏ จะทำให้สังคมได้มีโอกาสเรียนรู้จากความเป็นไปของเขาบ้าง เชื่อว่าความพร่ามัวที่เคยเป็นอดีต จะเปลี่ยนไปความชัดเจนอีกครั้ง เพื่อเป็นแนวทางกับคนรุ่นปัจจุบัน กับวีรบุรุษกรรมกรคนแรก "ถวัติ ฤทธิเดช"

จดหมายถึงในหลวง

ถวัติ ฤทธิเดช ทำหนังสือกราบบังคมทูลฯ "ขอพระราชทานอินเตอร์วิวข่าว" จากพระบาทสมเด็จพระปกเกล้าเจ้าอยู่หัว เมื่อวันที่ 12 ตุลาคม 2475 (จากจดหมายเหตุแห่งชาติ ร.7 ม.2.1/59 เรื่อง ขอพระราชทานอินเตอร์ข่าว) โดยมีใจความดังนี้

บ้านหลังตลาดนางเลิ้ง พระนคร

วันที่ 8 ตุลาคม พุทธศักราช 2474

ขอเดชะ ใต้ฝ่าละอองธุลีพระบาท ปกเกล้าปกกระหม่อม ข้าพระพุทธเจ้า นายถวัติ ฤทธิเดช ตั้งบ้านเรือนอยู่บ้านเลขที่ 1865 ซ.อำเภอนางเลิ้ง จังหวัดพระนคร ขอรับพระราชทานพระบรมราชวโรกาสกราบบังคมทูลใต้ฝ่าละอองธุลีพระบาท พระราชอาญาไม่พ้นเกล้าฯ

ด้วยเนื่องจากการที่ใต้ฝ่าละอองธุลีพระบาท เสด็จรักษาพระเนตร์ยังประเทศอเมริกา แลได้รับผลสมพระราชประสงค์ เปนเหตุให้ข้าพระพุทธเจ้าแลประชาชนส่วนมาก รู้สึกยินดีปรีดากันทั่วหน้า โดยหวังว่า เมื่อใต้ฝ่าละอองธุลีพระบาททรงพระสำราญแล้ว จะได้ทรงประสิทธิ์ประสาทความสันติสุขให้แก่ไพร่ฟ้าข้าแผ่นดิน ในยามคับขันนี้ ให้ผ่านพ้นไปได้ด้วยพระปรีชาสามารถ

เพราะฉะนั้น ในคราวที่ใต้ฝ่าละอองธุลีพระบาทเสด็จฯกลับเข้าสู่พระมหานคร ข้าพระพุทธเจ้า แลประชาชนผู้มีความจงรักภักดี จึงใคร่จะทราบข่าวคราวในใต้ฝ่าละอองธุลีพระบาท เปนส่วนมาก ในโอกาสนี้ ข้าพระพุทธเจ้าขอพระราชทานพระบรมราชวโรกาสเฝ้าใต้ฝ่าละอองธุลีพระบาท ขอรับพระราชทานอินเตอร์วิวข่าว ในฐานะที่ข้าพระพุทธเจ้าทำหน้าที่เปนผู้กระจายข่าวให้แก่หนังสือพิมพ์ หรือเปนผู้แทนของหนังสือพิมพ์ เพื่อสะดวกแก่ทางการ ข้าพระพุทธเจ้าขอทูลเกล้าฯ ถวายหัวข้อข้าพระพุทธเจ้าจะได้กราบบังคมทูลฯถามดังต่อไปนี้

ข้อ 1 ความรู้สึกในการทรงพระสำราญของใต้ฝ่าละอองธุลีพระบาท ในเมื่อทรงประทับอยู่ในพระมหานคร กับทรงประทับอยู่ในประเทศอเมริกา ต่างกันอย่างไร

ข้อ 2 ใต้ฝ่าละอองธุลีพระบาทเคยเสด็จประพาสในอินโดจีน และชะวามาแล้ว แลการเสด็จอเมริกาคราวนี้ ก็ผ่านประเทศอีกหลายประเทศ ใต้ฝ่าละอองธุลีพระบาททรงสังเกตอัธยาศัยใจคอแลการรับรองของรัฐบาลและประชาชนในประเทศนั้นๆ ต่างกันอย่างไร

ข้อ 3 หนังสือพิมพ์ปีนังกาเซตต์ลงข่าวว่า การที่ใต้ฝ่าละอองธุลีพระบาทเสด็จรักษาพระเนตร์

จักได้ทรงสร้างโรงงานอุตสาหกรรมอย่างใดอย่างหนึ่ง ซึ่งเหมาะแก่ภูมิประเทศขึ้นด้วย เปนที่ทราบกันอยู่ ข้อความซึ่งข้าพระพุทธเจ้ากราบบังคมทูลฯถาม มีเนื้อความจริงแลไม่จริงเพียงไร ถ้ามิเป็นการขัดกับรัฐปลาสโนบายแล้ว ข้าพระพุทธเจ้าขอรับพระราชทานดำรัสตอบ โดยจะทรงพระมหากรุณาธิคุณให้ข้าพระพุทธเจ้าเฝ้าทูลละอองธุลีพระบาท หรือจักทรงพระราชทานเปนพระราชหัตถเลขา ก็สุดแล้วแต่จะทรงพระมหากรุณาโปรดเกล้าฯ

ควรมิควรแล้วแต่จะทรงพระมหากรุณาธิคุณโปรดเกล้าโปรดกระหม่อม

ขอเดชะ

(ลงนาม) ข้าพระพุทธเจ้า นายถวัติ ฤทธิเดช



คู่ชีวิตของถวัติ ฤทธิเดชซึ่งยังมีชีวิตอยู่